Published
–
–
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยแบ่งการศึกษาหลัก ๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ การศึกษาครั้งนี้ประเมินปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในแง่ของโอกาสและผลกระทบ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการลดความเสี่ยงในโซ่อุปทาน โดยการศึกษาได้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสำรวจแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับกลางของบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ และการสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาพบว่า โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนารถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมกลางน้ำที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายรถยนต์ การศึกษาพบว่าประเทศไทยยังขาดในส่วนของการวิจัยพัฒนารถยนต์และการออกแบบชิ้นส่วน รวมทั้งต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงสุดต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ได้แก่ วัตถุดิบและกระบวนการผลิต รวมถึงปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ผู้จัดจำหน่ายต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้า สภาพตลาดและเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงภายในบริษัทและกับคู่ค้า การศึกษายังพบว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะมีการจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรมากกว่าผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านการจัดการความเสี่ยงกับลูกค้าและ Supplier ในการลดความเสี่ยงภายในโซ่อุปทาน ผู้ผลิตชิ้นส่วนควรเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเชื่อมโยงระบบสารสนเทศภายในโซ่อุปทาน ส่วนผู้จัดจำหน่ายควรเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลการขายและการจัดส่งระหว่างผู้ประกอบการและผู้จัดจำหน่าย รวมทั้งร่วมมือในการประเมินความเสี่ยงภายในโซ่อุปทานที่อาจกระทบต่อความต้องการรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดยการปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งการผ่อนปรนภาษีสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย