การออมเพื่อชราภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคง ทางการเงินหลังเกษียณอายุ

Authors

รศ.ดร. อมรรัตน อภินันท์มหกุล (หัวหน้าโครงการ) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รศ.ดร. ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ (นักวิจัยร่วม) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รศ.ดร. ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย (นักวิจัยร่วม) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร. ทัศนีย์ สติมานนท์ (นักวิจัยร่วม) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผศ.ดร. นิรมล อริยอาภากมล (นักวิจัยร่วม) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อาจารย ดร.สุภารี บุญมานันท์ (นักวิจัยร่วม) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Abstract

โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การออมเพื่อชราภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุเป็นโครงการภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากงบประมานแผ่นดินปี พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำในการออมเพื่อวัยเกษียณของแรงงานไทยจากหลากหลายสถานภาพการทำงาน โดยแบ่งการศึกษาหลักออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ (1) การประยุกต์ใช้แบบจำลอง Blinder-Oaxaca Decomposition (1973) กับข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบติดตามตัวอย่างซ้ำ (SES Panel) พบว่า ข้าราชการมีเงินออมเฉลี่ยสูงกว่าลูกจ้างเอกชนและผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยความแตกต่างส่วนใหญ่มาจากลักษณะส่วนบุคคลที่ดีกว่า (Endowment Effect) และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมของระบบหลักประกันรายได้ (Discrimination Effect) ที่ข้าราชการได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณ ซึ่งแรงงานกลุ่มอื่นไม่มี ส่งผลให้ข้าราชการออมเงินเองน้อยลง (Coefficient Effect) อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแบบจำลอง (Unexplained Part) ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ระบบสวัสดิการ การสนับสนุนจากสหกรณ์ และสภาพแวดล้อมการทำงาน (2) การวิเคราะห์ปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ทางการเงิน และปัจจัยด้านจิตวิทยา โดยใช้แบบจำลอง PROBIT และ TOBIT กับกลุ่มตัวอย่าง 2,023 คน พบว่า พฤติกรรมทางการเงินมีผลต่อการออมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับองค์ประกอบความรู้และทัศนคติทางการเงิน โดยพฤติกรรมสำคัญที่ส่งเสริมการออม ได้แก่ การวางแผนชีวิต การมีเป้าหมายทางการเงิน การรู้สถานะการเงินของตนเอง และการออมภาคสมัครใจ และ(3) การทดลองให้ข้อมูลแก่กลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาปริญญาตรี เกษตรกร และนายทหารชั้นประทวน พบว่า การให้ข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับการมีเงินออมหลังเกษียณสามารถกระตุ้นการออมได้ดีกว่าการให้ข้อมูลเชิงลบ โดยเฉพาะในกลุ่มนายทหาร ซึ่งมีแนวโน้มตอบสนองต่อข้อมูลที่ชัดเจนและจับต้องได้ ส่วนในกลุ่มนักศึกษาและเกษตรกร ผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน อาจเกิดจากความห่างไกลของประเด็นการเกษียณกับชีวิตประจำวัน หรือความไม่แน่นอนของรายได้ ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นการภาพที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการออมและผลที่จะเกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากฐานเงินเดือนจริง จึงมีผลทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ออมเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการให้ข้อมูลที่สามารถจับต้องได้ หรือข้อมูลที่ชัดเจนนั้น สามารถทำให้ลด present bias ของคนลงได้