นวัตกรรมการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการสื่อสารการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาในสื่อสังคมออนไลน์สู่สังคมไทย 4.0

Authors

อาจารย์ ดร.วิเชียร ลัทธิพงศ์พันธุ์ และอาจารย์ ดร.ปุณฑริกา รวิกุล คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ข้อ 1) ศึกษาเนื้อหาของสื่อที่ส่งเสริม และ/หรือบิดเบือนความรู้ความเข้าใจในการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fan Page) และข้อ 2) เพื่อนำเสนอหลักแนวคิดสำหรับการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่สามารถสื่อสารเนื้อหาการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาสู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fan Page)

ภายใต้วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อการศึกษา ที่เป็นผู้สื่อสารที่เป็นเจ้าของสื่อที่สื่อสารสารเนื้อหาการทำบุญบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fan Page) ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนผู้ติดตามตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป ประกอบด้วยวัดธรรมยุติ วัดมหานิกาย และ/หรือ สถานปฏิบัติธรรมในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ราย และสำนักปฏิบัติธรรม จำนวน 4 รายจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ผ่านมิติของสัญวิทยา (Semiology) พบว่า เนื้อหาการทำบุญบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fan Page) ที่ถูกนำเสนอโดยผู้สื่อสารที่กล่าวข้างต้นนั้น มีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยมากเป็นการสื่อสารในรูปแบบ “กิจกรรมการทำบุญ” (Medium) ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีความระลึกถึง (Index) วันสำคัญทางศาสนาและการสร้างขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิตทางโลก แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถที่จะสร้างให้ผู้รับสารเกิดความรู้และความเข้าใจหลักคำสอน (Message/Content) ของพระพุทธเจ้าผ่านกิจกรรมการทำบุญเหล่านั้นได้ ผู้วิจัยยังพบอีกว่า กิจกรรมการทำบุญ “สวดนพเคราะห์” เป็นกิจกรรมเดียวที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่มีนัยยะการสื่อสารในมิติของความคาดหวังของการเกิดปาฏิหาริย์จากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งปนเปื้อนในกิจกรรมการทำบุญซึ่งได้รับอิทธิพลจากอัญญเดียรถีย์อื่น ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม

ภายใต้วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ผู้วิจัยค้นพบหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารเนื้อหาการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทย ภายใต้กรอบศาสนบันเทิง (Religious-tainment) ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากกว่า 1,400 คน ที่ได้เข้าร่วมปฏิสัมพันธ์กับสื่อออนไลน์ต้นแบบประเภทควิซ “คนไทยทำบุญ” ผ่านความบันเทิง (Religious-tainment) ใน 3 มิติของการสื่อสาร ได้แก่ มิติที่ 1 การคัดกรองเนื้อหาและการอ้างอิงแหล่งข้อมูลเนื้อหาที่นำมาใช้ในการผลิตสื่อควรสะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตและความเชื่อมโยงของการทำบุญกับเป้าหมายของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง และไม่คลุมเครือ ที่มีความแตกต่างจากลัทธิความเชื่ออื่น ๆ และชี้แจงที่มาของเนื้อหาเพื่อนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ มิติที่ 2 สื่อสารด้วยภาษาและช่องทางการสื่อสารที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้รับสารในยุคสมัยปัจจุบันใช้ภาษา (ภาพ เสียง ตัวอักษร) ปัจจุบันที่สามารถเข้าใจได้ง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งสามารถช่วยลดช่องว่างและจุดอ่อนของสื่อดั้งเดิมในพระพุทธศาสนา และหลีกเลี่ยงการใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจได้ยากไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ทั้งนี้คงไว้ซึ่งหลักดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา (แก่น) แต่สื่อสารด้วยสัญญะทางภาษา (เปลือก) และมิติที่ 3 การสร้างสรรค์กลยุทธ์การสื่อสารที่กระตุ้นให้เกิดการอยากมีส่วนร่วมโดยการแสดงผลลัพธ์ของการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้รับสารกับสื่อ บุคคลโดยทั่วไปมักมีความสนใจในตนเองเป็นที่ตั้งเสมอ การใช้คำโปรยที่มีนัยยะเชิงท้าทายจะสามารถดึงดูดและกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ถึงผลลัพธ์ของตนเองจากการร่วมปฏิสัมพันธ์กับสื่อ อันส่งผลทางอ้อมให้ผู้รับสารได้รับความบันเทิงในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดการเรียนรู้เนื้อหาผ่านการมีส่วนร่วมนี้ด้วยความสมัครใจของตนเอง