Published
วารสารเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ
ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม–มิถุนายน 2566
วารสารเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการ
ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม–มิถุนายน 2566
การศึกษาในระดับประถมศึกษาในช่วงที่เด็กอายุ 6-12 ปี เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาในระบบของเด็กมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านความคิดความเข้าใจ (cognitive functioning) ที่สำคัญคือทักษะด้านการรับรู้ การจดจำ การใส่ใจ การคิดคำนวณตัวเลข การเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางสังคม การเรียนรู้วัฒนธรรม พัฒนาการทางอารมณ์ และทักษะทางกายภาพอื่นๆ ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกทั่วโลกต่างเห็น พ้องกันว่า การศึกษาในระดับประถมศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ปกครองที่ต้องจัดสรรให้เด็กเข้าถึงการศึกษาในระดับนี้ เพื่อส่งเสริมโอกาสการพัฒนาตนเองของเด็กและแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น (inter-generational poverty)การเข้าถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดของการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดีพัฒนาการของเด็กในช่วงประถมศึกษาไม่จำกัดอยู่เฉพาะในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมการดูแลเด็กที่บ้าน ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว การได้รับความคุ้มครองจากภัยคุกคามรูปแบบต่างๆการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข โภชนาการ และการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
องค์การยูนิเซฟชี้ว่า ในยามที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เด็กและเยาวชนนับเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่ได้รับ ผลกระทบรุนแรงและยาวนานที่สุด (UNICEF, 2014) โดยรายได้ครัวเรือนของเด็กได้รับผลกระทบผ่านช่องทาง อย่างน้อย 3 ช่องทาง (UNICEF, 2017) ได้แก่ 1) การจ้างงาน โดยพ่อแม่อาจกลายเป็นคนว่างงานหรือมีรายได้ลดลง 2) การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ลดลง และ 3) เงินโอนหรือผลประโยชน์จากสวัสดิการสังคม (Social transfer) ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลให้การลงทุนในเด็กของครอบครัวลดลง ทั้งทางด้านสารอาหาร สุขภาพการศึกษา การดำเนินกิจกรรมทางสังคมในเวลาว่างเปลี่ยนแปลงไป และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหาการทารุณกรรม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่แลพัฒนาการของเด็ก
ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลต่อรายได้และการกินดีอยู่ดีของครัวเรือนและต่อเด็กที่อาศัยในครัวเรือนด้วย แต่พัฒนาการของเด็กจะส่งผลต่อขีดความสามารถด้านกำลังคนของประเทศและการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากมาตรการปิดประเทศ และการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ลดลง ขณะที่การสั่งปิดโรงเรียนของรัฐบาลก็มีผลต่อการเรียนรู้และการทำกิจกรรมทางสังคมของเด็กและเยาวชนแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเด็กแต่ละคนในแต่ละรูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือน แต่ละระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และแต่ละประเภทโรงเรียนแตกต่างกันไป พัฒนาการของเด็กนักเรียนในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของโรงเรียนในแต่ละระบบการศึกษา และความสามารถและความพร้อมของครอบครัวและเด็ก ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โครงการศึกษาวิจัยนี้จึงต้องการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในระดับโลก (Pandemic) ต่อพัฒนาการของเด็กไทยในช่วงประถมศึกษา คือเด็กอายุ 6-12 ปี โดยจะสำรวจและวิเคราะห์บทบาทของโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนทางเลือกอื่น เช่น home school และรูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือนที่เด็กอาศัยอยู่ใน 4 รูปแบบครัวเรือน คือ ครัวเรือนขยายที่มีคนอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป คือปู่ย่า/ตายาย-พ่อแม่-ลูกครัวเรือน 2 รุ่นที่มีพ่อแม่-ลูก ครัวเรือนพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว และครัวเรือนข้ามรุ่นที่ผู้สูงอายุอาศัยลำพังอยู่กับหลาน เพื่อวิเคราะห์ว่า โรงเรียนและครัวเรือนของเด็กในแต่ละรูปแบบ มีการปรับตัวในระหว่างที่รัฐบาลใช้มาตรการsocial distancing อย่างไรบ้าง การปรับตัวดังกล่าวส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและการอยู่ดีมีสุข (well-being) ของเด็กเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และศึกษามาตรการช่วยเหลือครอบครัวเด็กในช่วงวิกฤตโควิดของรัฐบาลไทยเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อระบุผลกระทบสำคัญของวิกฤตโควิดต่อพัฒนาการของเด็กในระดับประถมศึกษา ปัญหาพัฒนาการเด็กที่รัฐบาลควรรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และออกแบบ/กำหนดแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ (new normal) เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กไทยตามยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยกรอบแนวคิดในการศึกษา อาจสรุปได้ดังภาพด้านล่าง
จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 สามารถส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาในหลายช่องทาง โดยรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2020a) ได้กล่าวถึงช่องทางการส่งผ่านผลกระทบที่สำคัญ (ดังภาพด้านล่าง) ดังนี้ (1) การปิดโรงเรียนและสถานศึกษา (School closures) ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งต้นทุนการศึกษา และสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก และ (2) วิกฤตเศรษฐกิจ (Economic crisis) ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทานการศึกษา ผลกระทบต่อภาคการศึกษาที่มาจากทั้งสองช่องทางดังกล่าว สุดท้ายย่อมกลายเป็นต้นทุนระยะยาว (Long-run costs) ของประเทศ ทั้งที่มาจากปัญหาที่เด็กไม่สามารถอ่านเขียนระดับที่ใช้งานได้(Learning poverty) ปัจจัยทุนมนุษย์ของประเทศลดลง ปัญหาคนยากจนเพิ่มขึ้น (เนื่องจากการออกจากโรงเรียน) ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ปัญหาความไม่สงบทางสังคม และปัญหาวัฏจักรความยากจนระหว่างประชากรต่างรุ่น
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มีทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน และมาตรการทางการเงินเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนแต่มาตรการส่วนใหญ่มักเป็นมาตรการระยะสั้น อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์ การให้ครัวเรือนนักเรียนเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ครัวเรือนยากจน และการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ มาตรการส่วนใหญ่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก และเน้นการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเป็น
สำคัญ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงรุนแรงทั่วโลก (ขณะที่ศึกษาในสิงหาคม 2564) รัฐบาลไทยและประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กหลังวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
โครงการศึกษาวิจัยนี้ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาประเภทต่างๆ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนทางเลือก และโรงเรียนนานาชาติ ร่วมกับการสำรวจข้อมูลภาคสนามที่เก็บข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศในหลากหลายรูปแบบการอยู่อาศัย อาทิ ครัวเรือนขยายที่มีคนอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป คือปู่ย่า/ตายาย-พ่อแม่-ลูก ครัวเรือน 2 รุ่นที่มีพ่อแม่-ลูก ครัวเรือนพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวและครัวเรือนข้ามรุ่นที่ผู้สูงอายุอาศัยลำพังอยู่กับหลาน เป็นต้น จำนวนทั้งหมด 3,032 ครัวเรือน
ในส่วนของการสัมภาษณ์โรงเรียน จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากตัวอย่างโรงเรียนจำนวน 10 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนสองภาษา โรงเรียนทางเลือก และโรงเรียนนานาชาติ พบว่าทุกโรงเรียนมีความพยายามที่จะจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนของตน ภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากรและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน คณะผู้วิจัยพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นที่สำคัญที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ที่ต้องปิดโรงเรียนและจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆนั้น คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่รุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดขึ้นในหลายมิติ ซึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือความเหลื่อมล้ำที่มีรากจากความแตกต่างของรายได้ เช่น นักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยต้องออกไปจากระบบการศึกษา (เช่นเลิกเรียนเป็นการชั่วคราว หรือไม่เรียนต่อ) หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มที่จากการขาดอุปกรณ์การเรียน หรือสภาพแวดล้อมไม่อำนวย ในขณะที่นักเรียนจากครอบครัวรายได้สูงที่เรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมจะพบปัญหาเหล่านี้น้อยกว่ามากหรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีรากมาจากความแตกต่างในระดับปัจเจกบุคคลหรือตัวเด็กเอง โดยนักเรียนที่มีลักษณะ Active learner จะยังสามารถเรียนรู้ได้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากต่อการเรียน ในขณะที่เด็กอื่นๆ จะเรียนรู้ได้น้อย เนื่องจากไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ขาดโรงเรียนหรืออีกนัยหนึ่งขาดครูที่คอยให้ความช่วยเหลือและปัญหานี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นในกรณีที่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ไม่มีเวลาหรือไม่สามารถช่วยเหลือด้านการเรียนได้ ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยโดย Grewenig และคณะ (2020) ที่ทำการสำรวจผู้ปกครอง จำนวน 1,099 คน ในประเทศเยอรมนี พบว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบด้านความเหลื่อล้ำที่รุนแรงยิ่งขึ้นต่อนักเรียนกลุ่มที่เรียกว่า “Low-achieving” เนื่องจากเป็นเด็กที่มีความรู้พื้นฐานและทักษะน้อย มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้ใช้เวลาเพื่อศึกษาและฝึกฝนในระดับที่ต่ำ ดังนั้นการเรียนในช่วงที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดสอนได้ตามปกติ จะยิ่งส่งผลให้มีความแตกต่างจากกลุ่มเด็ก “High-achieving” มากยิ่งขึ้น และพบว่าแม้ว่าระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนจะไม่มีความแตกต่างกันสำหรับเด็กสองกลุ่มนี้ แต่เด็กกลุ่ม “High-achieving” กลับใช้เวลาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนมากกว่ากลุ่ม “Low-achieving” ถึงวันละ 0.5 ชั่วโมง และความแตกต่างของเวลาที่ใช้ในการศึกษานี้มิได้เป็นผลมาจากปัจจัยทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (socioeconomic background)ของครอบครัว เนื่องจากกลุ่ม “Low-achieving” ใช้เวลามากกว่าในกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ดูโทรทัศน์เล่นเกมส์ และเล่นโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
จากข้อมูลที่คณะวิจัยได้รับจากโรงเรียนบ่งชี้ว่า บทบาทของครูในการช่วยเหลือนักเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเรียนการสอนแบบไม่ปกติ และพบว่าความสามารถและความทุ่มเทของครูเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่าอุปกรณ์หรือแอพพลิเคชันต่างๆ เพราะความชำนาญและความใส่ใจของครูจึงสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนตามไม่ทัน หรือนักเรียนที่ไม่ใส่ใจในการเรียนให้กลับมาได้ ทั้งนี้พบว่าครูจากโรงเรียนทางเลือกเต็มใจสละเวลาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยสองเท่าตัว เพื่อแบ่งชั้นเรียนให้มีขนาดที่เล็กลง ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยแนวนโยบายของโรงเรียนทางเลือกที่สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างจริงจังอย่างไรก็ตามพบว่าครูมีความเครียด จากการต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในระยะเวลาอันสั้นเพื่อใช้ในการเตรียมการสอนแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน และจากความทุ่มเทที่ต้องใช้เวลาและพลังอย่างมากในการสอน จากการสัมภาษณ์ในเชิงลึกพบว่าครูโรงเรียนเอกชนแบบปกติมีเงินเดือนในระดับที่ไม่สูงนัก และมิได้มีสวัสดิการอื่นๆ ดังเช่นครูโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งในการสอนออนไลน์ครูต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างเอง ซึ่งครูกลุ่มนี้อาจถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร ทั้งที่ครูมีภาระหน้าที่ที่สำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ
ในส่วนของการสำรวจครัวเรือน ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ข้อจำกัดของครัวเรือนด้านทรัพยากรเงินและเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลี้ยงดูเด็กและการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวิกฤตโควิด โดยประเภทการอยู่อาศัยของครัวเรือน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือน และการศึกษาสูงสุดของผู้ดูแลหลัก เป็นปัจจัยสำคัญสามประการที่ส่งผลต่อการทำกิจกรรมภายในบ้านร่วมกับเด็ก มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กในระหว่างการสั่งปิดโรงเรียน ควรคำนึงถึงการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะสัญญาณอินเตอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่มีคุณภาพดีเพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์ของครัวเรือนยากจน ครัวเรือนในพื้นที่ห่างไกล เช่น ครัวเรือนข้ามรุ่นที่เด็กอาศัยอยู่กับปู่ย่า/ตายาย หรืออาศัยกับญาติผู้ใหญ่โดยไม่มีพ่อแม่อาศัยอยู่ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงอาจต้องการมาตรการส่งเสริมการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวมากกว่ามาตรการช่วยเหลือทางการเงิน โดยเฉพาะครัวเรือนพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ผู้ดูแลเด็กต้องทำงานหารายได้พร้อมกับการดูแลเด็ก อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบด้านรายได้ก็ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้สามารถพลิกฟื้นกลับสู่สภาพเศรษฐกิจเดิมหรือดีขึ้น เพราะการลดลงของรายได้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการกินดีอยู่ดีของสมาชิกครัวเรือนทุกคน แต่ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กและพัฒนาการทางปัญญาของเด็กนักเรียนด้วย
และเนื่องจากการขาดสมาธิในการเรียนออนไลน์เป็นปัญหาสำคัญที่พบมากที่สุดในทุกประเภทครัวเรือนรัฐบาลอาจพิจารณาส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านดิจิทัลร่วมกับแนวคิดสื่อสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ที่น่าสนใจสำหรับเด็กประถมวัย โดยอาจปรับเปลี่ยนบทเรียนให้อยู่ในรูปการ์ตูน หรือการเล่นเกมที่มีการตอบโต้กับเด็กผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ ก็จะช่วยให้เด็กเกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อในวิชาหลักๆ ที่เด็กควรเรียนรู้ก่อน อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยบทเรียนทั้งหมดควรจัดวางในระบบการศึกษาแบบเปิด (Open access learning) ที่เด็กประถมวัยจากทุกพื้นที่ ทุกฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ฟรี ร่วมกับการพัฒนาทักษะการสอนออนไลน์ การพัฒนาและการใช้สื่อออนไลน์ช่วยในการเรียนการสอนแก่คุณครู และบุคลาการทางการศึกษาควบคู่กัน