Authors
ศาสตราจารย์ ดร. กัลยาณี เสนาสุ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Published
–
–
งานวิจัยเกี่ยวกับความสุขได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในระยะแรก นักวิจัยมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับการหาตัวชี้วัดความสุขที่มีความเที่ยงตรง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงเศรษฐกิจและสังคมกับความสุข ต่อมา งานวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาผลลัพธ์ของความสุข รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความสุขงานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาระดับความสุขและปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในรูปของความพึงพอใจในสุขภาพจิต ความพึงพอใจในครอบครัว ความพึงพอใจในชุมชน และความพึงพอใจในงาน ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสุขของคนไทยในช่วง พ.ศ. 2552–2557 โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้แก่ โครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี พ.ศ. 2552, 2553 และ 2555 การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 รวมทั้งโครงการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) ของคนไทย ปี พ.ศ. 2552, 2553, 2555 และเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 59,430; 64,720; 54,736; และ 9,997 ตัวอย่าง ตามลำดับ สำหรับการสำรวจในช่วง พ.ศ. 2552–2557 ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ทั้งสถิติพรรณนาและสถิติอนุมาน โดยสมมติฐานได้รับการทดสอบด้วยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยแบบลำดับขั้น (Hierarchical Regression Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า ระดับความสุขเฉลี่ยของคนไทยในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (อยู่ในช่วง 7.42 ถึง 7.60 จากมาตรวัด 0–10) และพบว่า ตัวแปรในโมเดลทั้งหมด ได้แก่ ความพึงพอใจในสุขภาพจิต ความพึงพอใจในครอบครัว ความพึงพอใจในชุมชน และความพึงพอใจในงาน มีผลกระทบเชิงบวกต่อความสุขของคนไทย โดยเฉพาะความพึงพอใจในสุขภาพจิตเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการพยากรณ์ความสุข นอกจากนี้ยังพบว่า ตัวแปรด้านระดับการศึกษา และรายได้/รายจ่าย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุข ในขณะที่ตัวแปรเชิงเศรษฐกิจสังคมอื่น ๆ ให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย ผลการศึกษาชิ้นนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันข้อค้นพบของงานวิจัยในต่างประเทศ แต่ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคุณภาพชีวิต (ในรูปของความพึงพอใจในสุขภาพจิต ความพึงพอใจในครอบครัว ความพึงพอใจในชุมชน และความพึงพอใจในงาน) ว่าเป็นปัจจัยสำคัญของความสุขของคนไทย ซึ่งผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายควรตระหนัก
ข้อสรุปสำคัญจากงานวิจัยนี้คือ ความสุขสามารถสร้างขึ้นได้จากหลากหลายแนวทางในระดับสังคม ความสุขของประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้จากนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดี ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้น ชุมชนที่มีคุณภาพ และคุณภาพชีวิตในการทำงาน ประชาชนที่มีความสุขย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่มีความทุกข์ รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายควรเข้าใจและตระหนักว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และควรมีมุมมองที่ชัดเจนต่อประชาชนที่ตนเองรับผิดชอบ ดังนั้น ควรบรรจุประเด็นเกี่ยวกับความสุขไว้ในนโยบายการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม