การจัดทำตัวชี้วัดการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองและชุมชนชนบทโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Authors

รศ.ดร.วิสาขา ภู่จินดา คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

Published

Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบท โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบท และจัดทำตัวชี้วัดการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากชุมชนเมืองและชุมชนชนบทที่มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 ชุมชน จากนั้นทำการร่างตัวชี้วัดการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบทตามหลักปรัชญาดังกล่าว และทดสอบความเหมาะสมของร่างตัวชี้วัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำกับดูแลการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน จากนั้นนำร่างตัวชี้วัดที่ผ่านการวิเคราะห์ไปจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสม แล้วนำไปทดลองใช้กับชุมชนเมืองและชุมชนชนบท จำนวน 3 ชุมชน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้

ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการใช้สารเคมี ปัญหาขยะมูลฝอย ชุมชนชนบทมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีและปัญหาการขาดการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ทั้งนี้การพิจารณาว่าชุมชนใดเป็นชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท พิจารณาจากลักษณะของชุมชนว่าเป็นชุมชนเกษตรกรรมหรือไม่ อยู่ภายในหรือนอกเขตเทศบาล และมีปัญหามลพิษหรือปัญหาทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่การจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบทมีปัจจัยนำเข้า เช่น นโยบายเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม งบประมาณ ภาคีเครือข่าย และการได้รับข้อมูลข่าวสาร ส่วนปัจจัยด้านกระบวนการ เช่น การจัดการทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และการจัดการมลพิษ เช่น ขยะและน้ำเสีย ปัจจัยด้านผลผลิต ได้แก่ การเกิดเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการสิ่งแวดล้อม และเกิดแหล่งเรียนรู้

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองและชุมชนชนบทโดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง คุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น มีการกำหนดนโยบายหรือแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม เกิดแหล่งเรียนรู้ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียง และส่งเสริมอาชีพในชุมชน ชุมชนกลายเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่น มีความสามัคคี และลดการพึ่งพาจากภายนอก

ตัวชี้วัดการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองและชุมชนชนบท 1) ปัจจัยนำเข้าซึ่งมีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม 0.84 ได้แก่ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหามลพิษในชุมชน ภาคีเครือข่าย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารภายในชุมชน 2)ปัจจัยด้านกระบวนการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม 0.94 ได้แก่ การบริหารจัดการ การป้องกันและการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ การคัดเลือกเทคโนโลยีในการจัดการสิ่งแวดล้อม 3) ปัจจัยด้านผลผลิต ซึ่งมีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม 0.97ได้แก่ คุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนลดลง มีนโยบายและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม มีแหล่งเรียนรู้ในชุมชน 4) ปัจจัยด้านผลกระทบ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม 0.88 ได้แก่ ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามัคคี ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกคนในชุมชนใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียงมีอาชีพให้กับคนในชุมชน ประชาชนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น มีการขยายผลไปยังชุมชนอื่น เกิดภาคีเครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน