Published
–
–
โครงการวิเคราะห์ตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนาตลาดทุนและประเมินศักยภาพตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ (1) เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดเพื่อการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในมิติทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) เพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยมหภาคที่กำหนดระดับการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3) เพื่อเสนอแนะตัวชี้วัดด้านการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แต่ละประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อน และประเมินศักยภาพในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศสมาชิก และ (4) เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาและความพร้อมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผลการศึกษา ได้ระบุโดยสรุปตามลำดับวัตถุประสงค์ รายละเอียดดังนี้
จากการวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ระดับการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีระดับการพัฒนาที่สูงกว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยในหลายด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมในทุกปัจจัยเท่ากับ 6.9, 6.3 และ 5.6 คะแนน ตามลำดับ (ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเท่ากับ 3.4 คะแนนและตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์เท่ากับ 2.2 คะแนน) ประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1.1 ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์มีจุดแข็งทางด้านขนาดตลาด โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่ม เช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันที่เกิดจากระบบการซื้อขายที่มีความยืดหยุ่น (dual-currency trading) และมีการเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งอื่นจากกระดาน Global Quoted และศูนย์ซื้อขายในภูมิภาคอื่นอย่างในลอนดอนและชิคาโก ซึ่งในการรวมกลุ่มเป็นตลาดหลักทรัพย์อาเซียน (ASEAN Exchange) มีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์จะเป็นผู้นำจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่นในอาเซียนมีความเปิดกว้างมากขึ้น
1.2 ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย มีระดับการพัฒนาที่สูงใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยมีจุดเด่นทางด้านการเข้าถึงของบริษัทในการระดมทุน โดยตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สูงสุดในกลุ่มอาเซียน และมีการจำแนกลักษณะบริษัทจดทะเบียนในกระดานซื้อขายที่ค่อนข้างละเอียดและมีความหลากหลาย ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนออกมาในรูปของระดับการกระจุกตัวทั้งในรูป CR-10 และระดับการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและยอดขาย ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีการกระจายตัวมากที่สุด
1.3 ตลาดหลักทรัพย์ไทยถือเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งที่สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ศักยภาพสูงจากระดับการพัฒนาที่ดีขึ้นมาโดยตลอดและจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยมีผลคะแนนทางด้านเสถียรภาพที่สูงสุดจากทั้ง 4 มิติ ซึ่งผลมาจากสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีโอกาสในการทำกำไรที่สะท้อนออกมาค่อนข้างต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับอันดับการดูแลการจัดการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทยที่สูงสุดในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 เมื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐานอาทิ อัตราส่วนราคาต่อกำไร (PE ratio) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (PBV ratio) และอัตราการเติบโตของเงินปันผลจ่าย (DY) ก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอาเซียน 5
1.4 ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน รวมทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่มีขนาดใหญ่และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ค่อนข้างสูงสอดคล้องกับการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด โดยจุดเด่นของตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียในงานศึกษานี้คือขนาดตลาดและการเติบโตของจำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สูง
1.5 ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์จัดเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นขนาดตลาดที่ยังเล็กหรือการเข้าจดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียนในแต่ละปีที่ค่อนข้างต่ำและมีการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือยอดขาย ปัจจัยหลายอย่างนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมของฟิลิปปินส์สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ยังมีเสถียรภาพที่ค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐาน ดังนั้นแนวโน้มในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์จะดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นเป็นแหล่งระดมทุนภายในประเทศเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงพัฒนาเสี่ยงมากกว่า
2.1 จากการศึกษาปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ โดยการวัดการพัฒนาจากการนำมูลค่าโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์เข้ามาใช้เป็นตัวชี้วัดผลการศึกษา พบว่าในกลุ่มประชาคมอาเซียน ขนาดของตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจประเทศที่มีสัดส่วนนี้มากที่สุด ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ สัดส่วนดังกล่าวบอกถึงการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ว่าสิงคโปร์เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีการพัฒนามากที่สุด
2.2 เมื่อพิจารณาด้านตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค จะพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวกับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยพบว่าด้านรายได้ การลงทุนภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญกับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในทุกประเทศ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทั้งสามตัวแปรถือเป็นตัวแปรภายในตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องในเชิงเศรษฐศาสตร์มากนัก จากผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนานโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ
2.3 งานวิจัยส่วนนี้ยังกำหนดหลายข้อ อาทิ ตัวชี้วัดการพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์ ชี้วัดจากขนาดถือว่าไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีเท่าไหร่ หรือในด้านของข้อจำกัดของข้อมูลที่รวบรวมมาจากหลายแหล่ง ทำให้ผลการทดสอบไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
3. การนำตัวชี้วัดด้านการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แต่ละประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนและประเมินศักยภาพในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศสมาชิก
จากความคิดเห็นพบว่า ผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญกับจุดอ่อน (Ww: 0.294) มากที่สุดในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รองมาคือ จุดแข็ง (Ws: 0.267) อุปสรรค (WT: 0.261) ที่มีระดับใกล้เคียงกัน และโอกาส (WO: 0.178) มีน้ำหนักต่ำสุด
3.1 จุดอ่อนถือว่าเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับน้ำหนักสูงสุด (W2: 0.103) รองมาคือ ขนาดและบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่ยังมีขนาดเล็ก (W1: 0.098) และการเข้าถึงแหล่งระดมทุนและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (W3: 0.093) ตามลำดับ
3.2 จุดแข็งซึ่งเป็นลำดับถัดมา พบว่า สภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ (S2: 0.056) ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รองมาคือ พื้นฐานอัตราส่วนทางการเงินที่ดี (S5: 0.050) ซึ่งประกอบด้วย อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน อัตราส่วนทางบัญชีพื้นฐาน (PE ratio, PBV และ DY) และอันดับถัดมาคือ ศักยภาพการเติบโตของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (S1: 0.046) เสถียรภาพและความยั่งยืนของการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ (S4: 0.043) และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (S3: 0.042) และการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ (S6: 0.030) ตามลำดับ
3.3 ด้านอุปสรรคของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า คุณภาพของแรงงาน การศึกษา ความรู้ทางด้านการเงินมีน้ำหนักมากที่สุด (T4: 0.1) รองมาคือ กฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ขาดความยืดหยุ่น (T3: 0.074) ขณะที่ปัจจัยอื่น เช่น การเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลกและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (T1: 0.046) และความน่าเชื่อถือของภาครัฐและโครงสร้างการเมืองไทย (T2: 0.041) นั้นมีความสำคัญอันดับท้ายสุดและมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน
3.4 ด้านโอกาสของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ภูมิศาสตร์ของประเทศถือเป็นโอกาสที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS connector) รวมถึงการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค (O2: 0.044) รองมาคือ อัตราการขยายตัวของประชากรภายในประเทศเป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง (O4: 0.036) การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค (O1: 0.032) การขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวม (O3: 0.025) โครงสร้างตลาดการเงินเน้นการระดมทุนผ่านภาคธนาคารเป็นหลัก (O6: 0.022) และการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์อาเซียน (O5: 0.019)