สังคมไทยกับการบริจาคและการประกอบกิจกรรมทางศาสนา

Authors

ผศ.ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ

Published

Abstract

เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาเป็นเวลานาน แนวคิดและหลักคำสอนของศาสนาพุทธจึงน่าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติ ความประพฤติ และการดำเนินชีวิตของคนไทยโดยส่วนใหญ่ ความเข้าใจเรื่องการบริจาคแก่วัด และการบริจาคเพื่อสาธารณกุศลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา จะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของวัดต่อการพัฒนาชุมชน และการพัฒนาสังคมไทยได้ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในสังคม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ และส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนในที่สุด โดยอาศัยแบบจำลอง Multivariate Probit ในการวิเคราะห์การตัดสินใจเลือกวิธีการบริจาคระหว่างการให้เงิน สิ่งของ หรือเวลา และแบบจำลอง Bivariate Tobit ในการวิเคราะห์จำนวนเงินที่ให้จริงและความถี่ของการทำงานจิตอาสาของปัจเจกบุคคล โดยเปรียบเทียบระหว่างการบริจาคแก่วัดกับการบริจาคแก่องค์กรสาธารณกุศลที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา

การศึกษานี้มีข้อค้นพบที่สำคัญสามประการคือประการแรก ระดับการศึกษาสูงสุดที่สำเร็จ ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นบวก (positive externality) ต่อการตัดสินใจบริจาค จำนวนเงินที่ให้ และจำนวนครั้งของการทำงานจิตอาสาแก่วัดและแก่องค์กรสาธารณกุศลโดยทั่วไป การส่งเสริมการศึกษาจึงเป็นประโยชน์ไม่เพียงต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ แต่ยังมีส่วนช่วยปลูกฝังค่านิยมการช่วยเหลือสังคมแก่ผู้สำเร็จการศึกษาด้วย

ประการที่สอง ทุนทางสังคมของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายทางสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และเครือข่ายทางศาสนาต่างมีผลที่เป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจบริจาค จำนวนเงินที่บริจาค และจำนวนครั้งของการทำงานจิตอาสา ทั้งนี้เพราะเครือข่ายทางสังคมเป็นช่องทางให้บุคคลได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้น รับทราบปัญหาและความต้องการของผู้ที่เดือดร้อน รัฐบาลจึงควรมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ สร้างเครือข่ายทางสังคมด้วยการส่งเสริมการทำกิจกรรมในชุมชนอย่างน้อยเดือนละครั้งทุกเดือน เครือข่ายในชุมชนที่เข้มแข็งจะส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในการประกอบอาชีพ และการจัดสรรสวัสดิการภายในชุมชน นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายทางสังคมยังอาจช่วยชดเชย Crowding out effect อันเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายเพื่อศาสนาของรัฐด้วย

ในประการสุดท้าย การติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เป็นประจำ ช่วยส่งเสริมให้บุคคลทำงานจิตอาสาให้แก่วัดและแก่องค์กรสาธารณกุศลที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนามากกว่าผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารเป็นประจำ การส่งเสริมให้บุคคลรักการอ่าน และปลูกฝังนิสัยให้บุคคลติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำทุกวัน จะเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการช่วยเหลือสังคมทางอ้อม สื่อสารมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือสังคม ด้วยการรายงานและวิเคราะห์ข่าวสารปัญหาทางสังคมให้ผู้สนใจรับทราบ และทำหน้าที่เป็นช่องทางในการระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนในยามฉุกเฉินด้วย