แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองเพื่อลดภาวะโลกร้อน

Authors

ศาสตราจารย์ ดร.สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ และคณะ คณะนิติศาสตร์

Published

Abstract

จากสภาวการณ์ที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยมีสาเหตุสำคัญจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเธน ไนตรัออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ คาร์บอน (PFCs) ออกสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของมนุษย์ทุกภาคส่วนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะหามาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมปลูกต้นไม้เพื่อลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากต้นไม้ยืนต้นสามารถดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตลอดอายุของต้นไม้นั้น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการวิจัยเอกสารการสัมภาษณ์เชิงลึกและการระดมความคิดเห็นโดยการสนทนากลุ่มเจาะจง (Focus group) และการนำเอาเทคนิคการตลาดสังคมฐานชุมชน (Community-Based Social Marketing Technique) มาประยุกต์เป็นแนวทางในการชักชวนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ในชุมชน

ผลการวิจัยพบว่า มาตรการทางสังคมคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการปลูกต้นไม้ในชุมชนได้ใช้เทคนิคการตลาดสังคมฐานชุมชน โดยการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ต้องการ ด้วยการสร้างการรับรู้และตระหนักในปัญหาและผลกระทบต่อลูกหลานโดยสื่อที่น่าเชื่อถือ คือ ผู้บรรยายและสื่อวีดิทัศน์ และการกำจัดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไม่เกิด ประกอบด้วย เวลา (Time) เงิน (Money) การใช้ความพยายามมากเกินจำเป็น(Physical Efforts) การใช้ความคิดมากเกินไป (Brain Cycles) การสวนกระแสสังคม (Social Deviance)และความไม่เป็นกิจวัตร (Non-Routine) การวิจัยพบว่า วิธีการนี้สามารถจูงใจให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ในชุมชนได้ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม คือ การจัดเก็บภาษีการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมีมาตรการทางกฎหมายรองรับ คือ พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518

การวิจัยเสนอแนะให้ใช้กลไกของภาษีสิ่งแวดล้อม โดยการออกเป็นกฎกระทรวงของพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้มีการปลูกต้นไม้ยืนต้น สำหรับพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518ใช้วิธีการกำหนดเป็นเงื่อนไขให้มีการปลูกต้นไม้ยืนต้นเพิ่มในที่ดินเช่าเมื่อมีการต่ออายุสัญญาเช่า ส่วนมาตรการทางสังคมนั้น หากจะนำเอาเทคนิคการตลาดสังคมฐานชุมชนมาใช้ ก็ควรจะต้องศึกษาบริบทของคนในชุมชนด้านสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก่อน เพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดแรงจูงใจและอุปสรรคที่จะทำให้พฤติกรรมไม่เกิด เพื่อกำจัดให้อุปสรรคเหล่านั้นให้หมดไป