ความคาดหวังและความพึงพอใจต่อคุณสมบัติของผู้จบการศึกษาด้านญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย

Authors

อาจารย์ ดร.นรีนุช ดำรงชัย คณะภาษาและการสื่อสาร

Published

Abstract

จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พบว่า จำนวนคนญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาอาศัยและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้ความต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาด้านญี่ปุ่นศึกษามีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนด้านญี่ปุ่นศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในประเทศไทยยังมีจำกัดอยู่เพียงไม่กี่สถาบันการศึกษา และยังค่อนข้างมีจำกัดอยู่เพียงในด้านภาษาและวรรณคดีซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ทำให้บุคลากรที่มีคุณสมบัติและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันยังมีอยู่ไม่เพียงพอ

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์ที่จะศึกษา ความคาดหวังต่อคุณสมบัติของบุคลากรด้านญี่ปุ่นศึกษา ตลอดจนความคาดหวังต่อแนวทางการเรียนการสอนด้านญี่ปุ่นศึกษา เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านญี่ปุ่นศึกษา ให้เป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของทั้งผู้เรียน และผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณสมบัติ และมีคุณภาพตรงกับความต้องการของสังคม โดยทำการเก็บข้อมูลจากทั้งบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านญี่ปุ่นศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งสิ้นจำนวน 123 คน และผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับพนักงานชาวไทยที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น ทั้งสิ้นจำนวน 53 คน

ผลการวิจัยพบว่า ความจำเป็นในการว่าจ้างบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาด้านญี่ปุ่นศึกษายังมีอยู่มาก แต่หลายองค์การประสบกับปัญหาการสรรหาบุคลากรด้านญี่ปุ่นศึกษาเพื่อเข้าทำงาน เพราะบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับความต้องการยังมีอยู่น้อย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความคาดหวังต่อคุณสมบัติของผู้สำเร็จการศึกษาด้านญี่ปุ่นศึกษามีความคลาดเคลื่อนระหว่างบัณฑิตและผู้ประกอบการ กล่าวคือ บัณฑิตจะคาดหวังและให้ความสำคัญกับระดับความสามารถและทักษะทางการใช้ภาษามากที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการคาดหวังบุคลากรที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจและตัดสินใจ อีกทั้งนำภาษาญี่ปุ่นมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และปฏิบัติจริงได้อย่างถูกต้อง โดยมองว่าทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นโดยรวมเป็นเพียงพื้นฐานอย่างหนึ่งในการทำงานเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า ทั้งบัณฑิตและผู้ประกอบการ ต้องการให้มีการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกปฏิบัติและสามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้จริง มากกว่าการเรียนการสอนจากตำราเรียน และผู้สอนเพียงอย่างเดียว