การพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2565


ชื่อโครงการ

การพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

คำสำคัญ

ถอดบทเรียน หลักสูตรผู้สูงอายุ การประเมินหลักสูตร การจัดการสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณภาพชีวิต การรับมือกับสังคมชีวิตวิถีใหม่ การถ่ายโอนความรู้

ผู้แต่ง

ศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สถิติการเปิดชม:


บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) นำหลักสูตรไปใช้จริงในชุมชนต้นแบบ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย 2) ประเมินการใช้หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะ 3) ถอดบทเรียนจากกิจกรรมการใช้หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะ ในการเสนอแนะในเชิงนโยบายและเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป และ 4) เสนอแนะแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในงานวิจัยนี้ต่อเนื่องจากงานวิจัยปีงบประมาณ 2564 ที่ได้วิเคราะห์บริบทการจัดการสิ่งแวดล้อมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้สูงอายุ วิเคราะห์ความต้องการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงวิเคราะห์ศักยภาพของผู้สูงอายุในการถ่ายโอนองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้องค์ประกอบของหลักสูตรมาทั้งสิ้น 4 รายวิชา ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ได้นำหลักสูตรมาต่อยอดในพื้นที่จริงของชุมชนต้นแบบ 10 พื้นที่ ครอบคลุม 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ทำการประเมินหลักสูตรโดยการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมิน CIPIEST Model แล้วนำผลการประเมินหลักสูตรฯ มาถอดบทเรียนจากกิจกรรมการใช้หลักสูตรด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review: AAR) เพื่อทบทวนความสำเร็จและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเสนอแนะในเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อไป

ผลการศึกษา พบว่า การนำหลักสูตรไปใช้จริงในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ ผู้สูงอายุมีความสนใจในการเรียนการสอน มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ พร้อมที่จะรับความรู้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง อีกทั้งผู้สูงอายุยังให้ความร่วมมือในระหว่างการเรียนการสอน มีส่วนร่วมในเกมที่นำมากระตุ้นความทรงจำให้กับผู้สูงอายุด้วย ทำให้การเรียนหลักสูตรนี้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนได้ รวมถึงเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุที่นำไปต่อยอดและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และบูรณาการสร้างคุณประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย โดยแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้จากวัยเกษียณสู่วัยกระเตาะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุให้นำหลักสูตรไปใช้ในการเรียนการสอนภายในโรงเรียน สนับสนุนความกล้าแสดงออกของผู้สูงอายุ สนับสนุนอาชีพให้กับผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุ มีการศึกษาดูงานชุมชนของผู้สูงอายุพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มองเห็นภาพจริงและสามารถปฏิบัติตามได้ รวมถึงการต่อยอดด้านการนำขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วหรือใช้เศษผ้ามาประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ โดยทำสิ่งของที่เน้นให้เห็นภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นับเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชนในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย