การออมเพื่อชราภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุ


ชื่อโครงการ

การออมเพื่อชราภาพเพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุ

คำสำคัญ

การออม , เกษียณอายุ , ชราภาพ

ผู้แต่ง


สถิติการเปิดชม

สถิติการดาวน์โหลด


บทสรุป

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยนับตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. 2558) คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ (completed aged society) คือมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นหนึ่งในห้าหรือร้อยละ 20 ของประชากรไทยในปี 2566 และจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (super aged society) ในปี 2576 ด้วยจำนวนผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มเป็นร้อยละ 31.4 ของประชากรในปี 2583 ทั้งนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ส่งผลให้ประชากรไทยมีอายุยืนยาวขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีรายได้หลักในการดำรงชีพจากเงินออมของตนเอง ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงเงินเกื้อหนุนจากบุตร หรือญาติพี่น้องในการดำรงชีพ แต่สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ที่ครัวเรือนไทยมีขนาดเล็กลงอันเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ทำให้อัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลง จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องทำงานพึ่งตนเองในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (วรเวศน์ 2557 และวรวรรณ 2551) แต่ข้อจำกัดด้านสุขภาพจะทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถทำงานเพื่อสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินออมจึงมีแนวโน้มแย่ลง รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบสัดส่วนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตามลำพังคนเดียว หรืออยู่ลำพังกับคู่สมรสที่สูงอายุด้วยกันมีจำนวนเพิ่มขึ้น และพบมีผู้สูงอายุมากถึงหนึ่งในสามของทั้งหมดที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ด้วยเหตุนี้ การเตรียมความพร้อมทางการเงินก่อนเข้าสู่วัยเกษียณจึงมีความสำคัญต่อการอยู่ดีมีสุขของปัจเจกบุคคล ที่จะช่วยให้บุคคลสามารถใช้ชีวิตหลังวัยทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและชุมชน และเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในที่สุด

แม้ว่าประเทศไทยได้ประยุกต์ใช้แนวคิดการสร้างหลักประกันรายได้เพื่อชราภาพแก่แรงงาน ด้วยการส่งเสริมการออมทั้งในภาคบังคับและสมัครใจ แต่จากการวิเคราะห์โครงสร้างหลักประกันรายได้ของไทยพบปัญหาที่สำคัญสามประการ คือ ประการแรก รัฐบาลขาดข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของบุคคล ทำให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไทยแม้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจน ก็ไม่สามารถให้เงินช่วยเหลือเฉพาะแก่กลุ่มเป้าหมายแต่ต้องให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า ทำให้จำนวนเงินที่ผู้สูงอายุแต่ละคนได้รับค่อนข้างต่ำไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ผู้สูงอายุที่เดือดร้อนจริงได้รับความช่วยเหลือไม่เพียงพอ ประการที่สอง แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระโดยไม่มี นายจ้างและแรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจประสบปัญหาความยากจนหลังเกษียณอายุ ประการที่สามโครงสร้างการออมภาคบังคับของไทยมีการเลือกปฏิบัติ (discriminate) ต่อแรงงานไม่เท่าเทียมกัน อาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทยหลังเกษียณอายุ ด้วยเหตุนึ้ การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์โครงสร้างการออมเพื่อชราภาพที่เป็นอยู่ของประเทศไทย ต่อการสร้างแรงจูงใจในการออมเพื่อชราภาพของแรงงานในภาคเศรษฐกิจต่างๆ และวิเคราะห์พฤติกรรมการออมของคนวัยทำงานที่แตกต่างกันตามสถานภาพการทำงานโครงสร้างอายุประชากร และตามลักษณะพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณอายุ และการสร้างวินัยการออมเพื่อชราภาพแก่คนวัยทำงาน

โครงการศึกษาวิจัยในที่นี้แบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่หนึ่ง เป็นการประยุกต์ใช้แบบจำลองของ Blinder-Oaxaca Decomposition (1973) ในการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนด้วยการติดตามตัวอย่างซ้ำ (SES Panel) เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างหลักประกันรายได้ของไทยต่อแรงงานที่มีสถานภาพการทำงานต่างกัน การศึกษาพบว่าข้าราชการมีเงินออมโดยเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่าลูกจ้างเอกชนและมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยความแตกต่างส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะข้าราชการโดยเฉลี่ยมีลักษณะส่วนบุคคล(Endowment Effect) ดีกว่าแรงงานกลุ่มอื่น โดย Endowment Effect สามารถอธิบายความแตกต่างของการออมระหว่างข้าราชการและลูกจ้างเอกชนได้ร้อยละ 57.7 และอธิบายความแตกต่างของการออมระหว่างข้าราชการและผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ร้อยละ 74.2 แต่ความแตกต่างของการออมส่วนที่เหลือไม่สามารถอธิบายได้ด้วย Endowmwnt effect จึงอาจพิจารณาได้ว่าเป็นความแตกต่างอันเนื่องจากแรงงานแต่ละกลุ่มมีหลักประกันรายได้เพื่อชราภาพต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการเลือกปฏิบัติของระบบหลักประกันรายได้เพื่อชราภาพต่อแรงงานแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน เรียกว่า ‘Discrimination effect’ ทั้งนี้ Discrimination effect ยังแบ่งย่อยเป็นสองส่วน โดยหากกำหนดให้แรงงานมีลักษณะส่วนบุคคลที่เหมือนกันแล้ว การศึกษาพบว่าข้าราชการมีเงินออมน้อยกว่าแรงงานในกลุ่มอื่น (Coefficient effect) โดยมีเงินออมน้อยกว่าลูกจ้างเอกชนร้อยละ -35.9 และน้อยกว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระร้อยละ -29.3 เหตุผลส่วนหนึ่งของ Coefficient effect อาจเป็นเพราะข้าราชการจะได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณอายุจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐโดยไม่ต้องออมเงินเอง ทำให้ข้าราชการเห็นความสำคัญของการออมเพื่อชราภาพน้อยกว่าแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีเงินบำนาญดังกล่าว แต่ยังมี Discrimination effect อีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้จากแบบจำลอง (Unexplained part) ที่มีผลให้ข้าราชการมีเงินออมโดยเฉลี่ยมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยปัจจัยภายนอกแบบจำลองทำให้ข้าราชการมีเงินออมมากกว่าลูกจ้างเอกชนร้อยละ 78.2 และมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระอีกร้อยละ 55.1 ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากปัจจัยแวดล้อมในระบบราชการที่ช่วยส่งเสริมการออมของข้าราชการ อาทิ การมีสหกรณ์ออมทรัพย์ในหน่วยราชการ การมีสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่นๆ ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งการศึกษาในอนาคตอาจศึกษารายละเอียดของปัจจัยสนับสนุนการออมของบุคลากรในภาครัฐต่อไป จะสังเกตว่า Unexplained part มีผลแรงกว่า Coefficient effect ทำให้ผลรวมของ Discrimination effect เป็นบวกในทิศทางเดียวกับ Endowment Effect

นอกจากความแตกต่างของการออมอันเนื่องจากการอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันรายได้ที่แตกต่างกันแล้ว การศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การออมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกกลุ่มแรงงานคือ การมีวินัยทางออมหรือมีการออมอย่างสม่ำเสมอ (consistent saving) การมีวัตถุประสงค์ของการออมเงินที่ชัดเจน โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของการออมเพื่อชราภาพ (oldage saving) และการออมเพื่อไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน (precautionary saving) โดยแรงงานที่มีวินัยการออมอย่างสม่ำเสมอในทุกรอบการสำรวจ (consistent saving=1) มีเงินออมต่อเดือนมากว่าแรงงานที่ไม่มีการออมอย่างสม่ำเสมอ (consistent saving=0) 2.63, 2.56 และ 3.34 เท่าสำหรับกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน และผู้ประกอบอาชีพอิสระตามลำดับ ในทำนองเดียวกัน การมีวัตถุประสงค์การออมเพื่อชราภาพ (oldage saving=1) ช่วยให้ผู้ออมมีเงินออมต่อเดือนมากกว่าผู้ไม่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว (oldage saving=0) 4.30, 7.52, และ 6.37 เท่าสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน และผู้ประกอบอาชีพอิสระตามลำดับ และการมีวัตถุประสงค์การออมเพื่อไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน (precautionary saving =1) ช่วยให้ผู้ออมมีเงินออมต่อเดือนมากกว่าผู้ไม่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าว (precautionary saving =0) 4.39, 7.67, และ 6.16 เท่าสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน และผู้ประกอบอาชีพอิสระตามลำดับเช่นกัน

ในส่วนที่สองของการศึกษา เป็นการใช้ข้อมูลการสำรวจภาคสนามจากตัวอย่างจำนวน 2,023 คน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ทางการเงิน (Financial literacy) และปัจจัยด้านจิตวิทยาต่อความน่าจะเป็นของการออมเงินอย่างสม่ำเสมอด้วยแบบจำลอง PROBIT และจำนวนเงินออมที่ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถออมได้จริงด้วยแบบจำลอง TOBIT ผลการศึกษาที่สำคัญ พบว่าปัจจัยที่สามารถใช้อธิบายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทั้งสองแบบจำลองมีความสอดคล้องกัน โดยทั้งสามองค์ประกอบของความรู้ทางการเงินตามแนวคิดของ OCED (2010)ต่างช่วยเพิ่มโอกาสของการออมเงิน และจำนวนเงินที่ออมได้ แต่พฤติกรรมทางการเงิน (Fin behavior) มีผลต่อการออมมากที่สุด ให้ค่าสัมประสิทธิของการประมาณการสูงกว่าความรู้และทักษะการคำนวณทางการเงิน (Fin knowledge & skill และทัศนคติทางการเงิน (Fin attitude) ดังนั้น การปรับเปลี่ยนความรู้และทักษะทางการเงินและทัศนคติทางการเงินสู่ภาคปฏิบัติจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้การออมเพื่อชราภาพของคนไทยประสบความสำเร็จโดยพฤติกรรม การออมที่สำคัญในการศึกษานี้ เป็นข้อคำถามในแบบสอบถามที่เกี่ยวกับ การมีการวางแผนชีวิตของผู้ตอบแบบสอบถาม การมี เป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน การทราบสถานะทางการเงินของตนเองการทำบัญชีรับจ่าย ความพึงพอใจในการออมเงินให้มีรายได้เพียงพอก่อนการซื้อสินค้า และการมีการออมภาคสมัครใจ พฤติกรรมทางการเงินเหล่านี้จึงเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการส่งเสริม

ส่วนที่สามของการศึกษาเป็นการทำการทดลองว่า การให้ข้อมูลการออมเพื่อชราแก่กลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลที่ให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่หลังเกษียณแบบที่มีเงินออม (บวก) และแบบที่ไม่มีเงินออม (ลบ) มีผลต่อการออมต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้ ได้ทำการออกแบบการทดลองให้เหมาะสมกับบริบทสถานภาพการทำงาน อายุ และพื้นที่อยู่อาศัย (ในเมือง กับชนบท) ของประชากร 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ (1) นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นตัวแทนคนเจนวาย (2) เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน และเป็นแรงงานนอกระบบ และ (3) นายทหารชั้นประทวน ที่เป็นข้าราชการ มีเงินเดือนประจำ และมีสหกรณ์ออมทรัพย์ช่วยส่งเสริมการออม

ผลการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาปริญญาตรี พบว่ากลุ่มทดลองที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุแบบมีเงินออม มีเงินออมในกระปุกออมสินของโครงการไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับข้อมูลขณะที่กลุ่มที่ได้รับข้อมูลหลังเกษียณอายุแบบไม่มีเงินออม มีเงินออมในกระปุกออมสินโครงการน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูล และความหยืดหยุ่นของการนำเงินออมออกมาใช้ได้และใช้ไม่ได้ในกลุ่มที่มีการล็อคและไม่ล็อคกุญแจของกระปุกออมสิน ก็ไม่ส่งผลต่อการออมของกลุ่มนักศึกษา แต่เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะผลของข้อมูลโดยการเปรียบเทียบระหว่างการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุแบบมีเงินออมและไม่มีเงินออม พบว่าการให้ข้อมูลหลังเกษียณอายุแบบมีเงินออมหรือการให้ข้อมูลในเชิงบวกทำให้อัตราการออมสูงกว่าการให้ข้อมูลหลังเกษียณอายุแล้วไม่มีเงินออมหรือการให้ข้อมูลในเชิงลบ

สำหรับกลุ่มเกษตรกรพบว่า ทั้งกลุ่มที่ไม่มีการให้ข้อมูลและกลุ่มที่มีการให้ข้อมูลหลังเกษียณอายุแบบที่มีเงินออมมีการออมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่การให้ข้อมูลวิธีการเปลี่ยนมูลค่าของการซื้อหวยซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้กลายมาเป็นเงินออมนั้น สามารถลดมูลค่าการซื้อหวยลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูลอะไรเลย แต่เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าการออมที่เพิ่มขึ้นนั้นพบว่าในกลุ่มที่มีการให้ข้อมูลหลังเกษียณอายุแบบที่มีเงินออมมีมูลค่าการออมที่เพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูลนี้

และในกลุ่มนายทหารชั้นประทวนที่มีสถานการณ์ของการออมเงินในอนาคตที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ พบว่า การให้ข้อมูลการออมในอนาคตที่ชัดเจนและจับต้องได้จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่มีการออมในปัจจุบันสูงอยู่แล้วจะมีแนวโน้มที่จะอยากออมเพิ่มขึ้นน้อยกว่าในกลุ่มคนที่มีการออมในปัจจุบันต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับแนวทางในการเพิ่มการออมในอนาคต

ถึงแม้ว่าผลของการศึกษานี้จะยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมที่มี present bias ได้จากผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มการทดลอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความแตกต่างกันในพฤติกรรมการออมของแต่ละกลุ่ม โดยสำหรับกลุ่มการทดลองที่เป็นนักศึกษาถึงแม้จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุเพื่อให้เห็นภาพอนาคตชัดเจนขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่มากประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ข้อมูลที่ทางทีมวิจัยให้มีความเป็นนามธรรมมากเกินไป ทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ยังไม่เกิดความตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการออม อย่างไรก็ตามจากการรายงานผลโดยนักศึกษาพบว่าหลังจากเข้ารวมโครงการ จำนวนเงินออมโดยเฉลี่ยต่อเดือน (ทั้งในกระปุกโครงการและแหล่งเงินออมอื่น ๆ)เพิ่มมากขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการในทุกกลุ่มการทดลอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการมีประปุกออมสินเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออมเพิ่มมากขึ้น ส่วนในกลุ่มเกษตรกรนั้น จากการที่ทีมวิจัยสร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้กับครัวเรือนที่มีการเล่นหวยและสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนนำเงินที่ใช้ในการซื้อหวยมาใช้เป็นเงินออม ซึ่งกระบวนการ ดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อหวยของเกษตรกรลดลง แต่ยังไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรนำเงินส่วนนี้ไปออมได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อลดรายจ่ายจากการเล่นหวยลงได้ เงินในส่วนนี้อาจถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างอื่นแทน เช่น นำไปใช้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน โดยในส่วนนี้ทีมวิจัยมองว่าต้องมีการเก็บข้อมูลประกอบเพิ่มเติมและต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรนำเงินส่วนนี้ไปออม และสุดท้ายในกลุ่มของทหาร เนื่องจากประชากรในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและสามารถคาดการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ค่อนข้างแน่นอน ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นการภาพที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการออมและผลที่จะเกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากฐานเงินเดือนจริง จึงมีผลทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ออมเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการให้ข้อมูลที่สามารถจับต้องได้หรือข้อมูลที่ชัดเจนนั้นสามารถทำให้ลด present bias ของคนลงได้