แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย

Authors

ศาสตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ และคณะ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Published

Abstract

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงสถานการณ์และปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย 2) วิเคราะห์และเสนอแนวทางการพัฒนา/ปฏิรูประบบบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงงานรีไซเคิล บำบัด กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์รับซื้อ/คืนซากผลิตภัณฑ์ ประชาชนผู้คัดแยกขยะ และผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษาการบริหารจัดการใช้กรอบแนวคิด Balanced Scorecard (BSC) การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารจัดการประยุกต์ใช้เทคนิค SWOT Analysis

ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีขยะประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากถึง 4 แสนตันต่อปีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจาก 948 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2559 เป็น 1,067 ล้านชิ้น ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี พ.ศ. 2563 คือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718 ล้านชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317 ล้านชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13 ล้านชิ้นตามลำดับ ปัจจัยสำคัญคืออายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใน

ไทยมีอายุการใช้งานสั้นลงอย่างมาก จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของขยะอิเล็กทรอนิกส์ กรมควบคุมมลพิษเตรียมออกกฎหมายควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดประเภทขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ต้องกำจัดอย่างถูกต้อง แนวทางการจัดการจะใช้วิธีคิดค่ากำจัดซากขยะรวมอยู่ในราคาขายสินค้าด้วย โดยเงินที่เก็บได้จะตั้งเป็นกองทุน มีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล เพื่อนำเงินดังกล่าวเก็บไว้สำหรับจัดการซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ซึ่งคาดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ จะเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564

ปัจจัยภายในที่สำคัญที่มีผลต่อการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มุ่งให้ผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ตามหลัก Extended Producer Responsibility (EPR) และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศ การวางระบบการจัดการของเสียอันตรายรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในระดับชุมชน ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้บริโภค และพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการขาดแรงจูงใจในการเรียกคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ นโยบาย/ทิศทางการผลิตสินค้าในต่างประเทศซึ่งช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้แนวทางการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นทรัพยากรสำคัญในการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต

แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มิติกลุ่มเป้าหมาย 1) จัดตั้งศูนย์รวบรวมและคัดแยกซากผลิตภัณฑ์ฯ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการเก็บรวบรวมหรือมีกลุ่มหรือเครือข่ายที่สามารถดำเนินการรีไซเคิล บำบัด กำจัด ได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว 2) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการในการควบคุมการคัดแยกที่ต้นทาง 3) กระตุ้นให้ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร จัดทำเป้าหมายการรวบรวมซากฯ (Collection rate) เป้าหมายการใช้ประโยชน์ (Recovery rate) และเป้าหมายการรีไซเคิล (Recycle rate) ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมิติการกระบวนการภายใน 1) ปรับปรุงระบบบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีมากขึ้น โดยสนับสนุนแนวคิด Circular Economy และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและนำไปจัดการอย่างถูกต้อง จัดทำระบบการติดตามตรวจสอบและรายงานผล 4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมถอดแยกและรีไซเคิลอย่างไม่ถูกต้อง 5) หน่วยงานภาครัฐติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แหล่งชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มิติการเงิน/งบประมาณ มีกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกระดับและทุกพื้นที่มิติการเรียนรู้และพัฒนา 1) สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและมูลค่าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดการผลิตภัณฑ์ฯ ที่เหมาะสม 2) สนับสนุนด้านงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และการลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์