
ชื่อโครงการ
การบริหารโครงการวิจัยเพื่อยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านการวิจัยและนวัตกรรม : ด้านผู้สูงอายุ (Research Project Management to Enhance Research and Innovation on SDGs for Older Persons)
คำสำคัญ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้สูงอายุ งานวิจัยด้านผู้สูงอายุ สุขภาวะของผู้สูงอายุ
ผู้แต่ง
รศ.ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล (นักวิจัยหลัก) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล อริยอาภากมล (นักวิจัยร่วม)
ดร.ทิพย์อาภา รติสุรกานต์ (นักวิจัยผู้ช่วย)
นายปพน ปลื้มวงศ์โรจน์ (นักวิจัยผู้ช่วย)
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
บทคัดย่อ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตั้งอยู่บนหลักการจะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง การดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความมั่นคงด้านรายได้ และเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาวะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แต่ผลการศึกษาดังกล่าวอาจยังไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการตอบโจทย์ SDGs เท่าที่ควรในทางปฏิบัติ
โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์และเชื่อมโยงงานวิจัยที่ตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านผู้สูงอายุ ระบุช่องว่างการวิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับประเด็นวิจัยที่ควรได้รับการสนับสนุนต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุ
การดำเนินงานวิจัยอาศัยการสำรวจความสอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานของงานวิจัยด้านผู้สูงอายุโดยด้านอุปสงค์อาศัยการสำรวจความต้องการงานวิจัยของหน่วยงานปฏิบัติระดับกรมที่มีพันธกิจหลักด้านการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่การวิเคราะห์อุปทานของงานวิจัย จะคัดสรรงานวิจัยจากฐานข้อมูลงานวิจัยด้านผู้สูงอายุของ วช.
ในระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 ที่ผ่านการประมวลผลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์คำ (text analytics) แล้วว่า มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษาพบว่า อุปสงค์และอุปทานงานวิจัยด้านผู้สูงอายุขาดความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากหน่วยงานปฏิบัติไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์วิจัยและการทำวิจัยเท่าใดนัก ขณะเดียวกัน วช. ขาดการประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้รับทราบเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายและการส่งเสริมงานวิจัยด้านผู้สูงอายุของไทย มุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมาย SDG3 (สุขภาวะ) SDG8 (เศรษฐกิจและการจ้างงาน) และ SDG11 (ที่อยู่อาศัย) มากที่สุด ขณะที่เป้าหมาย SDG5 (ความเสมอภาคทางเพศ) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ) และ SDG16 (การบังคับใช้กฎหมาย และความยุติธรรม) ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่าใดนัก ทั้งยังขาดงานศึกษาวิจัยรองรับด้วย จึงเป็น
ประเด็นการวิจัยที่ควรได้รับการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัยต่อไป
การศึกษานี้เสนอให้ วช. พิจารณาประเด็นการวิจัยร่วมกับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผู้สูงอายุ และหน่วยปฏิบัติว่าประเทศไทยควรมีงานศึกษาวิจัยสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง และควรมีการจัดอันดับความสำคัญ(priority) ของประเด็นการวิจัย โดยควรให้ทุนสนับสนุนเป้าหมายย่อยที่ยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดและยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนก่อน ได้แก่ เป้าหมายย่อยที่ 5.1 – 5.5 (ของ SDG5) เป้าหมายย่อยที่ 10.2 – 10.4 (ของ SDG10) และเป้าหมายย่อยที่ 16.1, 16.3, 16.7, 16.9 และ 16.10 (ของ SDG16)ตามลำดับ